เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 19 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ดร.เนาวรัตน์ ทรงสวัสดิ์ชัย ประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (สภา 2) ร่วมกับสภาองค์การนายจ้างอีก 16 สภา ประชุมหารือประเด็นปัญหาต่างๆ แสดงจุดยืนร่วมกัน คัดค้านการขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ ที่จะให้มีผลบังคับใช้วันที่ 1 ต.ค. 2567 เตรียมยื่นหนังสือต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและปลัดกระทรวงแรงงาน ข้อเสนอแนะที่รัฐต้องคำนึงถึง
▪ รัฐควรคำนึงถึงสภาพเศรษฐกิจและความพร้อมที่แตกต่างกัน
▪ การพิจารณานโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี ตามหลักกฎหมาย ซึ่งบัญญัติไว้ใน ม. 87 แห่ง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 คณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ต้องคำนึงถึงข้อเท็จจริงเกี่ยวกับอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ ประกอบกับข้อเท็จจริงอื่นด้วย
▪ ต้องคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ผลิตภาพแรงงาน ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนความสามารถของประเภทธุรกิจ โดยผ่านการพิจารณาจากคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมปัจจุบัน หากการปรับอัตราค่าจ้างที่สูงเกินกว่าความเป็นจริง จะส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนในประเทศไทย ทำให้เกิดความไม่มั่นใจถึงต้นทุนของการทำธุรกิจและนโยบายภาครัฐ
▪ ถึงแม้ว่าการปรับค่าจ้าง จะใช้บังคับ เฉพาะโรงงานที่สถานประกอบการที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 200 คนขึ้นไป ก็ยังไม่เห็นด้วยเช่นเดียวกันเพราะยังขาดหลักการพิจารณาที่เหมาะสม
สภาองค์การนายจ้าง จึงได้ร่วมกันลงนามคัดค้านและเสนอแนะ เพื่อให้กระทรวงแรงงานได้รับทราบ และแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่สภาองค์การนายจ้างเห็นร่วมกัน เพื่อนำเสนอต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และท่านปลัดกระทรวงแรงงาน โดยมีรายนามประกอบด้วย
- สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย (สภา 1)
- สภาองค์การนายจ้างสภาอุตสาหกรรมเอ็สเอ็มอี แห่งประเทศไทย (สภา 3)
- สภาองค์การนายจ้างผู้ค้าและบริการเครื่องอุปโภคบริโภค (สภา 4)
- สภาองค์การนายจ้างแห่งชาติ (สภา 5)
- สภาองค์การนายจ้างธุรกิจไทย (สภา 6)
- สภาองค์การนายจ้างไทยสากล (สภา 7)
- สภาองค์การนายจ้างการเกษตร ธุรกิจ อุตสาหกรรมไทย (สภา 8)
- สภาองค์การนายจ้างธุรกิจ การค้าและบริการไทย (สภา 9)
- สภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าไทย (สภา 10)
- สภาองค์การนายจ้างไทย (สภา 11)
- สภาองค์การนายจ้าง ธุรกิจ และอุตสาหกรรมแห่งชาติ (สภา 12)
- สภาองค์การนายจ้างธุรกิจอุตสาหการไทย (สภา 13)
- สภาองค์การนายจ้าง เอส.เอ็ม.อี แห่งประเทศไทย (สภา 14)
- สภาองค์การนายจ้างบริการไทย (สภา 15)
- สภาองค์การนายจ้างธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยว-ภาค 8 (สภา 16)
- สภาองค์การนายจ้างเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม (สภา 17)